โครงถัก (Truss) คือการนำชิ้นส่วนหลายชิ้นมาประกอบกันเป็นรูปเลขาคณิต จนกลายเป็นโครงสร้างที่พากระหว่างจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง จุดเด่นของโครงถักคือโครงสร้างที่มีน้ำหนักเบา แต่สามารถรับน้ำหนักมาก อีกทั้งยังสามารถออกแบบรูปทรงให้สวยงามได้หลากหลายตามต้องการ โครงสร้างที่นิยมทำ ได้แก่ สะพาน และโครงหลังคา
รูปทรงพื้นฐานของโครงถัก คือรูปสามเหลี่ยมที่มีการประกอบกันด้วยชิ้นส่วนอย่างน้อย 3 ชิ้น โดยยึดปลายทั้งสองต่อกันเพื่อส่งแรง โดยวิธีการยึดติดกันมีทั้งการเชื่อม และการใช้สลักเกลียว รูปทรงของพื้นฐาน (a) จะเป็นการยึดปลายต่อกันแบบจุดหมุน ซึ่งจะเป็นรูปทรงที่มีความเสถียรมากที่สุดถึงแม้จะมีแรงมากระทำ แต่ในขณะเดียวกัน (b) และ (c) เมื่อมีแรงมากระทำจะส่งผลให้โครงสร้างเกิดการเปลี่ยนรูปร่าง เป็นรูปทรงที่ไม่มีเสถียรภาพ
โครงถัก (Truss) จะประกอบไปด้วยชิ้นส่วนหลายชิ้นมาประกอบรวมกัน ได้แก่
- จันทัน (Upper Chord) ทำหน้าที่รับแรงอัด
- ขื่อ (Lower Chord) ทำหน้าที่รับแรงดึง
- ค้ำยันในแนวดิ่ง (Vertical Web) ทำหน้าที่รับแรงอัด หรือแรงดึง แต่ขนาดเล็กกว่า และความสามารถน้อยกว่า จันทัน และ ขื่อ
- ค้ำยันในแนวเอียง (Diagonal Web) ทำหน้าที่รับแรงอัด หรือแรงดึง แต่ขนาดเล็กกว่า และความสามารถน้อยกว่า จันทัน และ ขื่อ
รูปแบบของโครงถัก ที่นิยมนำมาใช้เป็นโครงสร้างหลังคามีรูปแบบที่หลากหลาย แต่ที่นิยมนิจะมีรูปแบบ ดังนี้
- โครงถักแบบโฮว์ (Howe Truss) คือ โครงถักที่จันทันเอียงเป็นจั่วทั้งสองข้างเท่าัน โดยขื่อจะอยู่ในแนวราบ มีท่อนยึดดิ่ง ระยะห่างเท่ากัน และมีท่อนยึดทแยงเอียงลงเข้าหากึ่งกลางช่วง โดยมีรูปร่างตามช่วงความยาวที่เพิ่มขึ้น
- โครงถักแบบโฮว์ยกระดับ (Howe Pitch) คือ โครงถักที่นำจันทันทั้ง 2 ข้างยกระดับขึ้นไปโดยไม่มีการเชื่อมติดกับขื่อ แต่ใช้การเชื่อมผ่านจุดค้ำยันแทน นิยมใช้กับโกดังเก็บสินค้า หรือโรงงาน
- โครงถักคอร์ดเอียงขนาน คือ โครงถักที่ขื่อเอียงกับจันทัน ทำให้มีช่องว่างความสูงเพิ่มมากขึ้น แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ โครงถักแนวราบ (Flat Truss) และโครงถักแนวเอียง (Sloping Flat Truss)
- โครงถักแบบเอียงต่างมุม (Dual Pitch) คือ โครงถักที่มีลักษณะเอียงชันด้านหน้า แล้วลาดเทลงด้านหลัง นิยมใช้เป็นหลังคาอาคารตึกแแถว